เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 เป็นประธานเปิดโครงการนิ้วล็อคสัญจร “นิ้วล็อค ปลดล็อคได้ เจาะ แทน ผ่า” โดยมี นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล อดีตแพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคนิ้วล็อก นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ พลเรือโท ยุทธชัย ลีลาสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา และคณะชมรมนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ รุ่น 48 หญ้าแพรก มูลนิธินักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ ทีมงานโรงพยาบาลชัยภูมิ ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อคให้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการนิ้วล็อคสัญจร ในพื้นที่ จังหวัดน่าน จำนวน 40 ราย ณ โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ มณฑลทหารบกที่ 38
โดยโรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ได้จัดโครงการนิ้วล็อคสัญจร ครั้งนี้เพื่อบริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยนิ้วล็อคให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงทางการแพทย์ลำบาก การผ่าตัดนิ้วล็อคครั้งนี้ได้เกียรติจาก นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคนิ้วล็อก และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ เป็นผู้ผ่าตัดให้กับประชาชนที่เข้ามาร่วมโครงการ ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนัง จะเป็นการผ่าตัดโดยวิธี ฉีดยาชาเช่นเดียวกันลงแผล ประมาณ 2 มิลลิเมตรด้วยเทคนิค และอุปกรณ์เฉพาะ เมื่อผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มเอ็นที่เป็นปัญหาเสร็จแล้ว ไม่ต้องเย็บแผล แพทย์จะทำการปิดแผลไว้ และระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ เป็นเวลา 7 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ หลังจากผ่าแล้ว สามารถใช้งานมือได้ตามปกติ
นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล อดีตแพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคนิ้วล็อก ได้กล่าวไว้ว่า โรคนิ้วล็อคเป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่พบในผู้หญิง อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคนิ้วล็อคแล้วจะเกิดอาการเจ็บปวดส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงานของผู้ป่วย ปัจจุบันแนวโน้มมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือ พิมพ์คอมพิวเตอร์ หิ้วของหนัก ซึ่งการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด และจะไม่กลับมาเป็นอีก